วัฒนธรรมการแต่งกายแบบบาบ๋า
การแต่งกายของคนภูเก็ตจะเป็นการผสมผสานของหลายชนชาติออกมาอย่างสวยงาม
 |
ขอบคุณภาพจาก "ร้อยคำหอม" |
ซึ่งปัจจุบันชาวภูเก็ตยังคงรักษาวัฒนธรรมการแต่งกายแบบจีนบาบ๋าไว้โดยปรับ เปลี่ยนรายละเอียดให้เหมาะสมกับยุคสมัย โดยชุดแต่งกายที่นำเสนอจะเป็นการแต่งกายของคนภูเก็ต เมื่อสมัยร้อยกว่าปีมาแล้ว ซึ่งเป็นการผสมผสานของหลายชนชาติออกมาอย่างสวยงาม
ชุดเสื้อคอตั้งแขนจีบ
ชุดนี้ใช้ได้ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้สูงอายุ ใช้ในชีวิตประจำวันในโอกาสไปตลาด ไปวัด ไปไหว้พระที่ศาลเจ้า ผ้านุ่งเป็นผ้าปาเต๊ะ ตัวเสื้อความยาวระดับเอวชายเสื้อแต่งขอบด้วยลูกไม้ คอตั้งติดคอผ่าหน้าติดกระดุมทองหรือเข็มกลัดแถว แขนเสื้อยาวจีบปลายแขน มีกระเป๋าใบใหญ่สองข้าง
ชุดนายเหมืองและภรรยา
ชุดนายเหมือง ประกอบด้วยกางเกงและเสื้อคอตั้ง แขนเสื้อยาว มีกระเป๋าคล้ายชุดราชประเต็น สวมหมวกกะโล่ สำหรับผู้สูงวัยก็จะใช้ไม้เท้าด้วย
ส่วนภรรยา หากออกงานพิธีการสำคัญๆ จะแต่งชุด ?เสื้อครุย? ประกอบด้วยเสื้อตัวในเป็นเสื้อคอตั้งปลายแขนจีบเหมือนชุดเสื้อคอตั้งแขนจีบ ทั่วไป นุ่งผ้าปาเต๊ะ สวมทับด้วยเสื้อครุยยาวผ้าป่านรูเบียหรือผ้ามัสลินมีลวดลาย ติดเข็มกลัดชิ้นใหญ่เป็นชุด เรียกว่า ชุดโกสัง ซึ่งมี 3 ตัว ใส่กำไลข้อเท้า สวมรองเท้าปักดิ้นหรือลูกปัด
ทรงผม
เกล้าผมทรงสูง ด้านหน้าเรียบตึง ด้านหลังโป่งออกเรียก ?ชักอีโบย? เกล้ามวยไว้บนศีรษะ ส่วนด้านข้างสองข้างดึงให้โป่งออกเรียกว่า ?อีเปง? มวยด้านบนดึงขึ้นเป็นรูปหอยโข่ง ใช้ดอกมะลิหรือดอกพุดตูม ประดับรอบมวยผม แล้วปักปิ่นทอง
ชุดเจ้าสาว
มีลักษณะเครื่องแต่งกายและทรงผมแบบเดียวกับชุดคหปตานี ต่างกันที่เสื้อครุยเจ้าสาวส่วนใหญ่จะใช้ผ้าลูกไม้โปร่งหรือผ้าป่านแก้ว ส่วนผ้านุ่งจะใช้ปาเต๊ะสีสด รอบมวยผมเป็น ?ฮั่วก๋วน? หรือ ?มงกุฎเจ้าสาว?ประดับด้วยดอกไม้ไหวซึ่งทำจากทองคำ ปักปิ่นทองคำ เครื่องประดับเป็นทองและเพชรอลังการ ใส่ตุ้มหูระย้า สวมสร้อยคอทอง เรียก ?หลั่นเต่ป๋าย? ที่หน้าอกเสื้อจะประดับประดาด้วยปิ่นตั้งทองคำเหมือนรูปดาวเต็มหน้าอก ห้อยสายสร้อยทอง สวมแหวน กำไลมือ กำไลข้อเท้า สวมรองเท้าปักดิ้นเงินดิ้น ส่วนชุดเจ้าบ่าวจะหันมานิยมสวมสูทแบบตะวันตก แต่ยังนำจี้สร้อยคอหรือปิ่นตั้งมาติดที่ปกเสื้อ
ชุดย่าหยา
เป็นชุดลำลอง ตัวเสื้อตัดด้วยผ้าลูกไม้หรือผ้าป่านรูเบีย แขนยาว เข้าเอวรัดรูป ปักลายฉลุทั้งที่คอเสื้อ ชายเสื้อ และปลายแขน ตัวเสื้อด้านหน้าปลายแหลมยาว ความยาวตัวเสื้อจะอยู่ระดับสะโพกบน ปกเสื้อด้านหน้าแบะออกสำหรับติดโกสังหรือกระดุมทองฝังเพชรที่ร้อยเชื่อมด้วย สร้อยทอง ส่วนผ้านุ่งปัจจุบันนิยมใช้ผ้าปาเต๊ะปักเลื่อม เพื่อสนับสนุนงานฝีมือของกลุ่มแม่บ้านในชุมชน